วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

 เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง


ร้อยตำรวจโท เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ชื่อเล่น โก้ เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ในตำแหน่งกองหน้า ปัจจุบันเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย มีชื่อเล่นที่สื่อมวลชนสายกีฬาตั้งให้ว่า ซิโก้ ตามชื่อของนักฟุตบอลชาวบราซิลที่มีชื่อเสียง อันมีที่มาจากชื่อเล่นของเขาเอง

      ประวัติ

ซิโก้เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2516 ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรคนสุดท้องจากทั้งหมดสามคน ของสุริยา (บิดา) และริสม (มารดา)มีพี่สาวสองคนแต่ภายหลังราวปี พ.ศ. 2525 เขาตามบิดามารดาย้ายกลับไปภูมิลำเนาเดิมที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ซิโก้เริ่มศึกษาที่โรงเรียนบ้านหนองแดง อำเภอกุมภวาปี จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นจึงย้ายมาศึกษาต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนน้ำพองศึกษา อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงย้ายเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร ในระดับอนุปริญญา สาขาการบัญชี ที่โรงเรียนพาณิชยการกรุงเทพ และจบการศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และจบการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการกีฬา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ชีวิตส่วนตัว ซิโก้สมรสกับอัสราภา (สกุลเดิม: วุฒิเวทย์) เมื่อปี พ.ศ. 2545 มีบุตรสาวทั้งหมด 3 คน คือ อธิชา, มุกตาภา และกฤตยา

      ผู้เล่น

ซิโก้เริ่มแข่งขันฟุตบอลระดับประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยติดทีมชาติไทยชุดเยาวชน ไปแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ก็ขึ้นไปติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 24 และตามด้วยการแข่งขันฟุตบอลเมอร์ไลออนคัพ ที่ประเทศสิงคโปร์ เขายิงประตูแรกได้ ขณะเล่นร่วมกับ ทีมชาติไทยชุดบี เมื่อวันที่ 9 กันยายน ซึ่งทำให้ชนะทีมชาติโปแลนด์ 1 ประตูต่อ 0 และประตูสุดท้าย ในทีมชาติไทยชุดใหญ่ โดยเป็นประตูที่ 100 ของเขากับทีมชาติไทย (หากนับเฉพาะนัดที่พบกับทีมชาติ จะอยู่ที่ 85 ประตู) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ขณะแข่งขันคิงส์คัพครั้งที่ 37 ซึ่งชนะสิงคโปร์ 2 ประตูต่อ 0
นอกจากนี้ ซิโก้ยังอยู่ในทีมชาติไทย ชุดที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอล ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 17, 18 และ 19 และชุดที่เป็นอันดับ 4 การแข่งขันฟุตบอล ในกีฬาเอเชียนเกมส์สองสมัยติดต่อกันคือ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2541 ซึ่งซิโก้ยิงประตูขึ้นนำทีมชาติเกาหลีใต้ ก่อนที่ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล จะทำประตูโกลเดนโกลให้ทีมชาติไทยผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้าย และครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2545 และสามารถทำแฮตทริก ขณะเล่นให้ทีมชาติไทยมาแล้ว 4 ครั้งคือ ฟุตบอลชายซีเกมส์ครั้งที่ 20 นัดทีมชาติไทยชนะฟิลิปปินส์ 9 ประตูต่อ 0 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2542, นัดกระชับมิตร ทีมชาติไทยชนะทีมชาติคูเวต 5 ประตูต่อ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2544, ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ทีมชาติไทยชนะปากีสถาน 6 ประตูต่อ 0 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 และ ไทเกอร์คัพ 2002 รอบแบ่งกลุ่มนัดแรก (กลุ่มบี) ทีมชาติไทยชนะทีมชาติลาว 5 ประตูต่อ 0 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2545
อนึ่ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) บันทึกว่าซิโก้เป็นผู้ทำประตูสูงสุด ให้แก่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ที่ 71 ประตู จากการลงเล่น 134 นัด ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่รับรองโดยฟีฟ่า โดยนัดสุดท้ายที่ซิโก้ลงเล่นกับทีมชาติไทยชุดใหญ่คือนัดกระชับมิตรที่พบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550 โดยเสมอกันที่ 1-1 ทั้งนี้ เมื่อซิโก้สามารถยิงประตูได้ จะแสดงความดีใจด้วยการกระโดดตีลังกา กระทั่งสื่อมวลชนสายกีฬา ตั้งฉายาให้ว่าเป็น จอมตีลังกา
ซิโก้มีชื่อติดอันดับที่ 10 ของนักเตะที่ยิงประตูสูงสุดในนามทีมชาติ โดยในระหว่างปี 2535-2550 ซิโก้ติดทีมชาติ 131 นัด ยิง 70 ประตู ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยโดย "เดอะ มิเรอร์" สื่อชั้นนำของประเทศอังกฤษ

ผลงาน

ทีมชาติไทย

  • 2536 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 17 ประเทศสิงคโปร์
  • 2537 ชนะเลิศ คิงส์คัพ ครั้งที่ 25
  • 2537 ชนะเลิศ อินดิเพนเดนต์คัพ ครั้งที่ 7 ประเทศอินโดนีเซีย
  • 2538 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 18 ประเทศไทย
  • 2539 ชนะเลิศ ไทเกอร์คัพครั้งที่ 1 ประเทศสิงคโปร์
  • 2540 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย
  • 2541 อันดับที่ 4 เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประเทศไทย
  • 2542 ชนะเลิศ ซีเกมส์ครั้งที่ 20 ประเทศบรูไน
  • 2543 ชนะเลิศ คิงส์คัพ ครั้งที่ 31
  • 2543 ชนะเลิศ ไทเกอร์คัพครั้งที่ 3 ประเทศไทย
  • 2544 รอบ 10 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย
  • 2545 อันดับที่ 4 เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ประเทศเกาหลีใต้
  • 2545 ชนะเลิศ ไทเกอร์คัพครั้งที่ 4 ประเทศสิงคโปร์/อินโดนีเซีย

สโมสร

  • 2532 ชนะเลิศ ถ้วย ก (ธนาคารกรุงไทย)
  • 2536 ชนะเลิศ ถ้วย ข (ธนาคารกรุงไทย)
  • 2541 ชนะเลิศ กีฬากองทัพไทย (ตำรวจ)
  • 2542 รองชนะเลิศ มาเลเซียซูเปอร์ลีก (ปะลิส)
  • 2543 รองชนะเลิศ ดิวิชั่น 1 อังกฤษ (ฮัดเดอส์ฟีลด์ทาวน์)
  • 2545 ชนะเลิศ เอส.ลีก (สิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ)
  • 2546 ชนะเลิศ วี-ลีก (ฮหว่างอัญซาลาย)
  • 2546 ชนะเลิศ เวียดนามซูเปอร์คัพ (ฮหว่างอัญซาลาย)
  • 2547 ชนะเลิศ วี-ลีก (ฮหว่างอัญซาลาย)
  • 2547 ชนะเลิศ เวียดนามซูเปอร์คัพ (ฮหว่างอัญซาลาย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น